กระซิบรักที่เมือง...น่าน (2) (จบ)

21 ตุลาคม

ณ รีสอร์ทบ่อเกลือฟ้าใส เวลาเจ็ดโมงเช้า

ตื่นมาพบกับสายหมอกจริงๆ ด้วย 


บอกตรงๆ ว่า

ฟินมากกกกกกกกกกก



แค่ได้เดินถ่ายภาพดอกไม้ก็พอใจแล้ว อยู่ กทม. มันหาภาพแบบนี้ได้ยากจะตาย



สูดอากาศบริสุทธิ์เข้าไปเยอะๆ ฟอกปอดกันให้เต็มที่ ก่อนจะกลับไปเอาควันพิษกันทุ๊กวัน ทุกวัน


แต่พอแดดออกนิดๆ สายหมอกก็เริ่มจางหายไป (พี่ที่ office เรียกว่า "หมอกตอกบัตร" เพราะมาตอกบัตรตอนเช้า แล้วก็หายตัวไป) แต่อากาศก็ยังเย็นอยู่นะ เดินมากๆ ก็หิว -..,- กลับไปหาอะไรใส่ท้องที่บ้านพักดีกว่า (ของที่กักตุนเมื่อวานได้เวลาเอามาจัดการแล้ว)


เอาโนตบุคไปเช็คอีเมลได้นะจ๊ะ (อย่างที่บอกว่า Free WIFI ที่นี่แรงมาก)
นี่ถ้าได้นั่งทำงานในบรรยากาศแบบนี้ทุกวันก็คงดีไม่น้อย (ฝันไปเถอะ)


ฝรั่งขี้นก เป็นของพิเศษเสริมจากของกักตุนเมื่อวาน เก็บมาสดๆ จากต้นที่รีสอร์ทเลย
เนื่องจากไม่ได้มีกำหนดการอะไรที่ต้องเป๊ะตามเวลาขนาดนั้น ก็ใช้เวลาสบายๆ ใช้ชีวิตช้าๆ แบบที่ไม่สามารถทำได้ในชีวิตทำงานปกติ ค่อยๆ เก็บของเพื่อเดินทางกันต่อ

สถานีต่อไปของเราคือ

บ่อเกลือสินเธาว์ภูเขา

บ่อเกลือ ตั้งอยู่ในอำเภอบ่อเกลือ ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัดน่าน เดิมเรียกว่า "เมืองบ่อ" ซึ่งหมายถึง เมืองที่มีบ่อเกลือสินเธาว์ ที่มีอยู่ในพื้นที่ซึ่งเดิมมีอยู่ในจำนวน 7 บ่อ คือ บ่อหลวง บ่อหยวก บ่อเวร บ่อน่าน บ่อกิน บ่อแคะ และบ่อเจ้า 


บ่อเกลือมีอยู่สองบ่อ คือ บ่อเกลือเหนือ และ บ่อเกลือใต้ โดยบ่อเกลือเหนือมีขนาดใหญ่ มีโรงต้มเกลืออยู่หลายโรง ส่วนบ่อเกลือใต้ มีโรงต้มเกลือน้อยกว่า ทั้งสองบ่อชาวบ้านยังใช้วิธีการต้มเกลือแบบโบราณในโรงเกลือที่ปิดมิดชิด ภายในมีเตาขนาดใหญ่ขึ้นรูปจากดินเหนียวสำหรับวางกะทะใบเขื่อง หรือกระทะแขวนตะกร้าไม้ไผ่สานใบเล็กๆ เพื่อใช้สำหรับบ่อเกลือ ชาวบ้านที่บ้านบ่อหลวง ทำการต้มเกลือสินเธาว์มาตั้งแต่โบราณหลายร้อยปีมาแล้ว จากหลักฐานทางธรณีวิทยาระบุว่า เมื่อหลายแสนปีก่อน บริเวณนี้เคยเป็นทะเล


แต่ไปตอนช่วงเข้าพรรษา เค้าไม่ต้มเกลือกันหน้านี้นะจ๊ะ!!!

ปากบ่อนั้นขึ้นได้เฉพาะผู้ชายเท่านั้น ก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไม
มีแม่น้ำ(น้อยๆ) อยู่ใกล้ๆ สถานที่ๆ เค้าต้มเกลือด้วยล่ะ
ขากลับได้เกลือสินเธาว์ภูเขา (ที่ใส่ไอโอดีนเพิ่ม) ติดไม้ติดมือกลับมาเป็นของฝาก อย่างเยอะ แต่ถูกมาก (แม่ค้าบอกว่าเอาไปล้างผักได้) 

มุ่งหน้าต่อไปที่ อ.ปัว ผ่านเส้นทางลัดเลาะภูผาและหุบเขาเช่นเคย


ทางคดเคี้ยว เลี้ยวจนตัวบิดเป็นงู


ระหว่างทาง เจอหมู่บ้านเล็กๆ ก็เลยแวะจอดรับอากาศเย็นๆ ซะอย่างนั้น บ้านที่นี่มีอยู่ไม่กี่สิบหลังคาเรือน ผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่งก็ต้องดูหลายหมู่บ้าน แล้วแต่ละหมู่บ้านก็ห่างกันแบบข้ามเขาเป็นลูกๆ

เหมือนจะเป็นที่เล่นของเด็กๆ ในหมู่บ้านนี้
ชาวบ้านไปจับปลามาจากไหนไม่รู้ เอามาปิ้งกันสดๆ หางมันยังสะบัดๆ อยู่เลย
หมู่บ้านเล็กๆ บนภูเขา
ถั่วพูยาวมากกกก ประมาณ 2-3 เท่าของที่เคยกินในกทม.
ปูนา เอ๊ะ หรือ ปูภูเขา ก็ไม่รู้ รู้แต่มันยังไม่ตาย ดิ้นจนถุงพลาสติกดัง พึ่บๆ แพ่บๆ

ร้านค้าของหมู่บ้านนี้ มีคนจังหวัดน่านแวะซื้อผักก่อนกลับเข้าเมืองด้วย (น่าจะเป็นคนน่าน เพราะดูจากทะเบียนรถ -- เดาเอา)
 ไปกันต่อเถอะ!!



บนภูเขานี่ทำเวลาขับรถไม่ได้จริงๆ ถ้าแว๊นมากๆ อาจร่วงตกเขาไปแทน

จุดแวะชมวิวอุทยานแห่งชาติดอยภูคา



ภาพที่เห็นตอนนี้ยังกะภาพวาดแล้วระบายสีน้ำชัดๆ




ขับรถไปอีกซักหน่อย ก็จะเจอกับ

ต้นชมพูภูคา




"ชมพูภูคา" (ชื่อวิทยาศาสตร์ : Bretschneidera sinensis Hemsl. ชื่อวงศ์ : BRETSCHNEIDERACEAE) 

ต้นไม้พันธุ์หายากที่ใกล้สูญพันธุ์ของโลก ซึ่งปัจจุบันมีรายงานการค้นพบในโลกเพียงที่เดียวคือที่ อุทยานแห่งชาติดอยภูคา 



ชมพูภูคา เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูงประมาณ 15-25 เมตร จะเจริญเติบโตได้ดีในบริเวณป่าดงดิบ ตามไหล่เขาสูงชันที่มีความสูงตั้งแต่ 1,200 เมตรขึ้นไปจากระดับน้ำทะเล และมีความชื้นของอากาศสูง มีอุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีค่อนต่ำ 
มีป้ายไม้พังๆ อยู่ในทางลงเขาระยะไกลๆ
ลักษณะทั่วไปของ "ต้นชมพูภูคา" จะมีเปลือกเรียบสีเทา ใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียวมีใบย่อยรูปไข่แกมรูปใบหอก ปลายใบแหลมยาว แผ่นใบด้านล่างมีนวลสีขาว 



สำหรับ "ดอกชมพูภูคา" จะออกดอกเบ่งบานระหว่างเดือน กุมภาพันธ์-มีนาคม



ที่ข้างๆ ต้นชมพูภูคา มีศาลอยู่ด้วย (เค้าเขียนว่า ตำหนัก) เนื่องจากศาลนี้อยู่ตรงทางโค้งพอดี เวลาคนเค้าขับรถผ่านกัน ก็จะบีบแตร ปี๊นๆ ไม่รู้เพื่อความปลอดภัย หรือทำความเคารพ บางคันก็บีบ 1 ครั้ง บางคันก็มาครบ 3 ครั้ง เลยตอบไม่ถูกเลยว่าควรจะบีบกี่ทีดี แล้วบีบเพื่ออะไร - -"

ขับรถไปอีกหน่อย ก็แวะจอด (อีกแล้ว)



ต้นอะไรไม่รู้ แต่ใบสวยดี ดูเหมือนเป็นต้นไม้จากดึกดำบรรพ์



และแล้วเราก็มาถึง อ.ปัว จนได้!

อาหารกลางวันวันนี้ เราจัดตาม review ที่เจอในอินเตอร์เน็ตชัดๆ (แล้วก็บังเอิญหาร้านเจอซะด้วย)



อาหารรสชาติแบบพื้นเมือง เส้นอร่อยมาก ทั้งบะหมี่ เส้นเล็ก และเส้นใหญ่เลย


แต่มาถึงบ่าย(มาก) ไปหน่อย ก็เลยไม่เหลือขนมไทยให้กินแล้ว


เอาของเข้าที่พักคืนนี้ก่อนดีกว่า

แน่นอนว่าที่พักคืินนี้มาจากการ search ข้อมูลตอนเช้า(วันนี้) อ่านอยู่หลายเว็บไซต์ เค้าบอกกันว่าที่นี่ "ดี" พอโทรไปหา ป้าพวง เจ้าของกรีนฮิลล์รีสอร์ทก็พบว่าว่างพอดี

คืนนี้นอนด้วยกัน 4 คน ห้องกว้างมากกกกกกกกกกกกกก
นอกจากห้องพักจะกว้างแล้ว ยังมีอาหารเช้า เพิ่มน้ำเปล่าในห้องให้อีก 1 ขวด (รวมเป็น 5 ขวด) มี Free-WIFI ที่มีรหัส (แต่ไม่แรงเท่าไหร่) และ "ป้าพวง" ทำเราประทับใจจริงๆ ทันทีที่เราเปิดประตูลงรถ ป้าก็ทักชื่อพ่อเราได้ถูกต้อง (ไม่ต้องถามนะว่าชื่ออะไร แหม่~~) ป้าพวงให้ความรู้สึกว่าตั้งใจรอเราอยู่อย่างใจจดจ่อ


จะเสียเวลาชักช้าอยู่ไย ไปเที่ยวกันต่อดีกว่าจ้ะ

เมืองน่าน นี่เป็นเมืองทุ่งนาป่ะนะ เห็นผืนนาเยอะจัง แต่เป็นคนละแนวกับภาคกลาง ดูแห้่งๆ ไม่น่าเชื่อว่าจะปลูกได้เลย


เริ่มกันที่วัดแรกของ อ.ปัว กันเลยดีกว่า (แต่ไม่ได้ไปครบทุกวัดหรอกนะ)

วัดต้นแหลง 

วัดโบราณไทลื้อสิบสองปันนา (วัดไทยล้านนา) ตั้งอยู่ที่ ต.ไชยวัฒนา อำเภอปัว จังหวัดน่าน

สร้างสมัยชาวไทลื้อที่อพยพมาจากสิบสองปันนาในรุ่นแรกๆ สันนิษฐานว่าสร้างประมาณ พ.ศ. 2127 วิหารทรงตะคุ่มหลังคาลาดต่ำ ซ้อน 3 ชั้น ลักษณะเดียวกับบ้านเรือนแบบเดิมของชาวไทลื้อแถบสิบสองปันนา ผนังเจาะช่องหน้าต่างเล็กๆ เพื่อป้องกันอากาศหนาวเย็น 


ประตูทางเข้าตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก เพื่อให้แสงแรกของวันสาดส่องมาต้ององค์พระประธานและเพื่อให้พุทธศาสนิกชนที่เข้ามาในวิหารมุ่งความสนใจไปที่องค์พระประธาน ทั้งยังก่อให้เกิดบรรยากาศที่สงบนิ่งเหมาะกับการน้อมจิตสู่สมาธิ


ในวิหารมีตุงล้านนาแขวนอยู่เยอะมากเลย

ประวัติของตุงล้านนา

ชาวล้านนาแต่โบราณมีคติความเชื่อเกี่ยวกับอานิสงค์การทานตุงอยู่มาก ซึ่งเล่าสืบต่อกันมา หลายชั่วอายุคน ดังตัวอย่างเล่าว่า

"มีกาเผือกคู่หนึ่งออกไข่มา ๕ ฟอง อยู่บนต้นไม้ เมื่อเกิดลมพายุ ไข่ทั้งหมดได้พลัดตกลงมา ครั้นพ่อแม่กาเผือกกลับมาไม่เห็นไข่ของพวกตน ก็เกิดความโศกเศร้า จนตรอมใจตายแล้วได้ขึ้นไปอยู่บนสวรรค์ ไข่ทั้งห้าใบต่างถูกไก่ เต่า พญานาค โค และคนซักผ้านำไปเลี้ยง จนเติบโตเป็นชายหนุ่มทั้งห้าคน ต่างคนต่างก็มีจิตใจอยากบวช จึงบวชจนสำเร็จญาณและมาพบกันโดยบังเอิญ ทั้งห้าองค์มีความกตัญญูกตเวทีต่อผู้ที่ให้กำเนิด จึงได้สร้างตุงถวายอุทิศให้ กะกุสันทะซึ่งไก่เป็นผู้เลี้ยงสร้างรูปไก่ โกนาคมนะ รูปนาค กัสปะ รูปเต่า โคตมะ รูปวัว และอริยะเมตรัย รูปค้อนทุบผ้า เมื่อสร้างตุงเสร็จแล้ว ก็ทำถวายอุทิศ แต่ไปไม่ถึงผู้ให้กำเนิด กาเผือกจึงต้องมาบอกให้ทำเป็นประทีปรูปตีนกาจุดไปจึงจะอุทิศไปถึง"

ตุงสมัยก่อนของชาวเหนือ จึงสัมพันธ์กับพระพุทธเจ้าทั้งห้าองค์ การทำตุงถวายจึงเปรียบเสมือนตัวแทนสักการะของการแผ่กุศล กตัญญูกตเวทีไปถึงผู้มีพระคุณที่ล่วงลับไปแล้ว เราอาจเห็นตุงที่มีรูปไก่ยืนอยู่บนหัวตุงหมายถึงไก่ ส่วนลำตัวและใบของตุงแทนรูปนาค ลวดลายต่าง ๆ เป็นตารางเกล็ด หรือสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน หมายถึงเต่า และส่วนประดิษฐ์เป็นรูปกลม หมายถึงตาวัวหรือวัว

นอกจากนี้ยังมีความเชื่อกันว่าวิญญาณผู้ตายนี้สามารถยึดหรือปีนป่ายตุงขึ้นสวรรค์ได้ ดังเรื่องเล่าว่า 

"กาลครั้งหนึ่งมีนายพรานซึ่งเข้าไปล่าสัตว์ในป่านานนับสิบๆ ปี ผ่านไปที่วัดเห็นตุงที่แขวนอยู่โบกสะบัดสวยงามมาก เมื่อกลับมาถึงบ้านจึงได้ทำตุงขึ้นเพื่อที่จะไปถวายวัดบูชาพระประธาน ครั้นเมื่อเขาตายไป ถูกตัดสินส่งลงนรก เนื่องจากไม่เคยทำความดีเลย มีแต่ฆ่าสัตว์ ยกเว้นแต่ทำตุงถวายวัดเท่านั้น เมื่อถูกตัดสินให้ตกนรก ตุงผืนที่เขาทำนั้นได้มาพันดึงเขาให้พ้นจากนรก นำขึ้นสู่สวรรค์ได้"

"ชาวเหนือจึงมีความเชื่อว่า การถวายหรือทานตุงนั้นมีอานิสงค์หรือได้บุญอย่างมาก"

ตุงสวยๆ เต็มไปหมดเลย

"ตุง" ของล้านนา

มีลักษณะเป็นแผ่นวัตถุส่วนปลายแขวนติดกับเสาห้อยเป็นแผ่นยาวลงมา วัสดุที่ใช้ทำตุงนั้นมีหลายอย่าง เช่น ไม้ สังกะสี ผ้า กระดาษ ใบลาน เป็นต้น

ตุงเป็นสิ่งที่ทำขึ้นเพื่อใช้ในงานพิธีทางพุทธศาสนา โดยมีขนาด รูปร่าง และ รายละเอียดด้านวัสดุตกแต่งแตกต่างกันไป ตามความเชื่อและพิธีกรรมตลอดจนตามความนิยมในแต่ละท้องถิ่นด้วย

และที่นักท่องเที่ยวอย่างเราจะพลาดไม่ได้เลยก็คือ

ต้นดิ๊กเดียม ณ วัดปรางค์


(1 ใน UNSEEN THAILAND) ต้องมาดูให้เห็นกับตาว่าลูบลำต้นแล้วมันขยับได้จริงหรือไม่!!!


ในหลายเว็บไซต์ที่อ่านไปล่วงหน้า จะบอกเหมือนกันว่า

ต้นดิกเดียม สามารถไปชมได้ทุกวัน แต่ไม่ควรไปลูบคลำเนื่องจากในประเทศไทยมีอยู่ต้นเดียว โดยหากใคร สนใจชมความแปลกนี้ ทางเจ้าอาวาส ที่วัดท่านจะลูบให้ดู หรือไม่ก็ ถ้าลูบแล้วไม่ขยับ ต้องให้เจ้าอาวาสลูบให้ดู

แต่ตอนไปถึงก็เย็นแล้ว ท่านเจ้าอาวาสคนไหนก็ไม่รู้ เราก็เลยลูบเองซะเลย =w=



ลองลูบกันอยู่นาน พอลูบที ลมก็มาที นี่มันต้นไม้เรียกลมปะเนี่ย 
สุดท้ายก็ไม่รู้ว่า มันขยับได้จริงหรือไม่ ได้แต่มโนไปเองว่า มันขยับ!!!


ความจริงว่าจะไปวัดอื่นๆ ต่ออีก แต่บังเอิญไปแวะเข้าร้านเครื่องเงินซะก่อน แต่เอาจริงๆ ไม่เชิงเป็นร้าน เรียกว่าเป็น โรงงานทำเครื่องเงิน แ้ล้วก็มีหน้าร้านขายน่าจะเหมาะกว่า โดยสถานที่นี้มีชื่อว่า

"ดอยซิลเวอร์" 

นอกจากจะได้ของติดไม้ติดมือกลับมาแล้ว ยังมีโอกาสได้เข้าไปดูวิธีการทำงานของช่างเครื่องเงินด้วย (สามารถเข้าชมวิธีการทำเครื่องเงินได้ตั้งแต่ 08.00-17.00 น. ทุกวัน จันทร์-เสาร์)


งานเครื่องเงินทุกอย่างที่นี่ เป็นงานละเอียด ใช้มือในการทำงานทั้งนั้น


อุปกรณ์มีตั้งแต่ใหญ่ๆ จับง่าย ไปจนถึงเล็กกระจิ๋ว ถ้าพลาดน่าจะหลุดแทงมือเอาได้



ช่างเครื่องเงินที่นี่ มีทั้งผู้ชายและผู้หญิง (จำนวนพอๆ กันนะ)



อย่างชุดเงินชุดนี้ ราคาหลักหมื่น กว่าจะออกมาเป็นชุดนี้ได้ คงใช้เวลาทำงานนานน่าดู ว่าแต่...ใครจะเอาไปใส่กันนะ?


ได้ของติดไม้ติดมือกลับบ้านละ สบายใจ :P


บริษัท ดอยซิลเวอร์แฟคเตอรี่ จำกัด
205 หมู่ 1 ตำบลสถาน อำเภอปัว จังหวัดน่าน 55120
http://doisilver-factory.com/
Tel : (66)0-5479-1650 , (66)08-1568-2423

แป๊บๆ ก็ได้เวลาอาหารเย็นอีกแล้ว หลังจากที่หาร้านในอินเตอร์เนตอยู่นานพอควร เค้าบอกว่ามีร้านอร่อยคือ ร้านเรณู ครอบครัวเราก็พยายามวนรถหา กลับรถไปกลับรถมา อยู่ประมาณ 3 รอบได้ สุดท้ายก็ยอมแพ้ เพราะยังไงก็หาไม่เจอ เลยตกลงกันที่ร้าน น้อมจิตร (ดูใหญ่โต และดูสะอาด)

พอเข้าไปนั่งโต๊ะที่ร้าน เห็นเมนูเท่านั้นแหละ... นี่มันร้านเรณูนี่!!!


ด้วยความอยากรู้เลยถามพนักงานว่า นี่คือร้านเรณูปะคะ ทำไมเปลี่ยนชื่ออ่ะ?
ก็ได้ความว่า "เปลี่ยนเจ้าของ" ก็เลยเปลี่ยนชื่อร้านนะจ๊ะ

แต่เอาจริงๆ มันไม่ควรเปลี่ยนชื่อร้านไม๊? (ความเห็นส่วนตัว... ไหนๆ ชื่อร้านมันก็ติดเป็นร้านดังในอินเตอร์เน็ตแล้ว จะเปลี่ยนให้ลูกค้าหายไปทำไมกันนะ)


อันนี้มาเป็นกระทงเผือกทอด อร่อยมากกกกก (ถ้าเป็นคนที่ชอบกินเผือกทอด)
พอหมดของคาว ก็แบบว่ากระเพาะยังไม่เต็มดี ต้องแวะร้านเบเกอรี่กันซักนิด (เล็งร้านนี้ไว้ตั้งแต่ตอนบ่ายที่มาถึง อ.ปัวแล้ว) ชื่อร้านว่า "โอโอเบเกอรี่" น่าจะเป็นร้านประจำอำเภอเลยมั้ง


ที่ร้านมีหนังสือให้อ่าน ก็เลยหยิบเล่ม "แนะนำสถานที่เที่ยวเมืองน่าน" มาดู ก็พบว่าร้านนี้เป็นร้านแนะนำด้วยล่ะ


บอกตรงๆ ว่า ละลานตา อยากจะหยิบไปซะหมด แถมราคาก็ไม่แพงด้วย

สุดท้ายก็ได้เค้กสตอเบอร์รี่ กับเค้กเผือกมาอย่างละชิ้น เนื้อเค้กอร่อยมาก แต่หน้าเค้กไม่โอเคเท่าไหร่ ><


ถ้าราคาแบบนี้ อร่อยแบบนี้ แล้วมาขายอยู่ที่ กทม. นะ ได้ซื้อกลับบ้านทุกวันแน่ๆ #ตายๆ


22 ตุลาคม

เช้านี้ที่เมืองปัว อากาศเย็นสบาย (แต่ไม่เท่าบ่อเกลือ) อาหารเช้าของกรีนฮิลล์รีสอร์ทมีไม่มาก แต่อร่อยแทบทุกอย่าง เป็นอาหารพื้นเมือง ข้าวผัด ข้าวต้ม ผัดผัก มะละกอ อร่อยหมดเลยยยย

แล้วก็ได้เวลา move กันต่อ Go Go !! 

น้ำตกศิลาเพชร


น้ำตกศิลาเพชร ตั้งอยู่ที่ บ้านป่าตอง ตำบลศิลาเพชร อำเภอปัว จังหวัดน่าน ปัจจุบันน้ำตกแห่งนี้เริ่มเป็นที่รู้จัก และกลายเป็นอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวที่กำลังได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างถิ่น 

ผีเสื้อกำลังจู๋จี๋กัน

น้ำตกนี้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ โดยมีน้ำจากลำห้วยหลายสายไหลมารวมกัน เป็นลำน้ำผ่านโขดหิน และตกลดหลั่นลงมาเป็นชั้นๆอย่างสวยงาม นอกจากนี้แล้วน้ำตกศิลาเพชรยังเป็นแหล่งที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน ในการนำสินค้าชุมชนออกจำหน่ายตามรายทางอีกด้วย 



การเดินทาง น้ำตกศิลาเพชร ตั้งอยู่ที่ บ้านป่าตอง ตำบลศิลาเพชร ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 71 กิโลเมตร ใช้ทางหลวงหมายเลข 1080 สายน่าน-ปัว ก่อนถึงอำเภอปัว ตรงหลักกิโลเมตรที่ 41-42 มีทางแยกขวามือเข้าทางหลวงหมายเลข 1170 ไปประมาณ 10 กิโลเมตร 


ขากลับ เค้าจะให้วนรถออกอีกทาง ซึ่งจะผ่านทุ่งนาเต็มไปหมด (อีกแล้ว) ตอนแรกก็นึกว่าหลงทาง แต่สุดท้ายก็เจอทางออกจนได้ เย้!


ระหว่างทาง เจอกับผ้าไทยย้อมสี (น่าจะเป็นผ้าฝ้ายนะ) ที่เค้าเอามาตากให้สีแห้ง สีสวยมากเลย (แต่ผ้าพวกนี้นี่สีตกยิ่งกว่าอะไรดี - -")


แล้วเราก็ยิงยาวกลับมาถึงตัวเมืองน่าน ก่อนจะออกจาก อ. เมืองน่านไป เราแวะนมัสการพระธาตุเก่าแก่ และชมเมืองน่านจากมุมสูงที่

วัดพระธาตุเขาน้อย


วัดพระธาตุเขาน้อย เป็นปูชนียสถานที่สำคัญและเก่าแก่อีกแห่งหนึ่งของ จ.น่าน สันนิษฐานว่ามีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับพระธาตุแช่แห้ง ตั้งอยู่บนดอยเขาน้อย สูงจากระดับน้ำทะเล ประมาณ  240  ม.  หน้าวัดมีทางขึ้นเป็นบันไดนาค  303  ขั้น มีทางรถขึ้นถึงตัววัด เมื่อขึ้นไปยืนบนยอดเขา จะมองเป็นทิวทัศน์ของเมืองน่านได้อย่างชัดเจน


ตามประวัติ  พระธาตุองค์นี้สร้างโดยมเหสีรองของพญาภูเข็ง เจ้าผู้ครองนครน่าน เมื่อราวพุทธศตวรรษที่  20  เจ้าผู้ครองนครน่านอีกหลายองค์ต่อมา ได้บูรณปฏิสังขรณ์องค์พระธาตุโดยตลอด จนกระทั่งมีการบูรณะครั้งใหญ่ในสมัยพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ ในปี พ.ศ. 2449-2454 โดยช่างชาวพม่า ชื่อหม่องยิง


กรมศิลปากรได้ทำการสำรวจและขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อปี  พ.ศ.2523  ด้วยความเป็นวัดที่อยู่บนเขาสูง จึงเป็นจุดชมทิวทัศน์ที่สวยงาม  ตรงลานปูนเป็นที่ตั้งของพระพุทธรูปปางลีลาองค์ใหญ่ คือพระพุทธมหาอุตมมงคมนันทบุรีศรีเมืองน่าน สร้างเมื่อปี  พ.ศ.2542  ถีอเป็นจุดเดียวที่เห็นเมืองน่านจากมุมสูง เราจะเห็นขุนเขาน้อยใหญ่ตั้งทะมึนโอบล้อมเมืองน่าน เป็นฉากหลัง จุดนี้ยังแสดงให้เราเห็นชัด ถึงลักษณะการตั้งเมืองของทางภาคเหนือ ที่มักเลือกทำเลที่ตั้งบนที่ราบลุ่มและหุบเขาด้วย


หลังจากชมวิวทิวทัศน์กันเรียบร้อย ก็หาอะไรรองท้องกันที่

ร้านอาหารคำผิว 

เป็นร้านอาหารชั้นเดียว เหมือนจะเป็นบ้านไม้ รู้สึกเหมือนอยู่ในตลาด (กำลังง่วงๆ จำอะไรไม่ค่อยได้แล้ว) เติมพลังกันก่อนที่เราจะเดินทางออกไปยัง เสาดินนาน้อย


บรรยากาศ อาจไม่สำคัญ เท่า รสชาติ! 




บอกได้คำเดียวว่า ... อร่อย ... ไม่ผิดหวังจริงๆ ที่แวะร้านนี้จ้ะ!!!

มุ่งหน้ากันไปต่อที่

เสาดินนาน้อย

เสาดินนาน้อย (ฮ่อมจ๊อม) อยู่ที่ตำบลเชียงของ ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของอุทยานแห่งชาติศรีน่าน มีระยะทางห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ประมาณ 24 กิโลเมตร เป็นเสาดินที่มีลักษณะแปลกตาคล้าย “แพะเมืองผี” ที่จังหวัดแพร่


เสาดินนาน้อย เกิดจากการที่ดินตะกอน ทับถม ถูกเลื่อนตัวสูงขึ้นจากผิวดิน ผ่านเวลานานหลายล้านปี ถูกน้ำและฝนกัดเซาะ จนทำให้เกิดรูปร่างประหลาด แปลกตาอย่างที่เห็น สันนิษฐานว่าเสาดินนาน้อยมี อายุประมาณ 30,000-10,000 ปี และเคยเป็นก้นทะเลมาก่อน

นอกจากนี้ยังค้นพบกำไลหินและขวานโบราณที่นี่ (ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน) แสดงให้เห็นว่าบริเวณนี้อาจเคยเป็นแหล่งอาศัยของมนุษย์ยุคหินเก่า


เสาดินนาน้อยมีลักษณะเป็นหุบผาและแท่งดินผสมหินลูกรังสีแดงปนส้ม รูปทรงต่างๆ กันไป บ้างเป็นแท่งแหลม บ้างเป็นแท่งมนกลม คล้ายฉาก คล้ายหลืบม่าน แล้วแต่จะจินตนาการให้เป็นรูปอะไร กระจายอยู่ในพื้นที่ประมาณ 20 ไร่ คล้ายกับแพะเมืองผีที่ จ. แพร่ โดยมีป่าเต็งรังขึ้นอยู่กระจัดกระจาย


ในช่วงฤดูหนาว ป่าเต็งรังบริเวณรอบๆ เสาดินจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง แดง ส้ม น้ำตาล ตัดกับสีน้ำเงินเข้มของท้องฟ้า โดยเราสามารถเดินชมได้ทั่วทั้งบริเวณ


ที่นี่นอกจากจะมีธรรมชาติมหัศจรรย์ที่เกิดจากการกัดเซาะพังทลายของดินเป็นบริเวณกว้างกว่า 20 ไร่ แล้วยังมีพืชพื้นถิ่นที่น่าอัศจรรย์อย่าง “หญ้าเข็มนาฬิกา” เป็นอีกหนึ่งสิ่งน่าสนใจไม่ควรพลาดอย่างเด็ดขาด


“หญ้าเข็มนาฬิกา” เป็นหญ้าชนิดหนึ่ง อยู่ในตระกูลเดียวกับต้นแขมและต้นอ้อ เป็นพืชท้องถิ่นที่มีชื่อเรียกหลากหลายไปตามท้องที่ ในแถบภาคเหนือเรียกหญ้าพุ่งชู้ บ้างเรียกเข็มพ่อหม้าย ขนตาช้าง หนวดฤาษี หรือหนวดเสือ บ้างเรียกภาษาอังกฤษว่า spear grass (หญ้าหอก) ส่วนทางอีสานเรียกเส้นขนพันธุรัตน์

ดูหน้าตาแล้วหญ้าชนิดนี้ก็ไม่ได้โดดเด่นอะไร แต่ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ดอกของมันซึ่งเป็นเส้นแหลมเกาะกันเป็นกลุ่ม เมื่อดึงออกมา (ตากแห้งแล้วค่อย) จุ่มลงในน้ำ ดอกหญ้าเหล่านี้จะหมุนติ้วในทิศทางตามเข็มนาฬิกาอย่างเริงร่าดูน่าพิศวง จน ถนิม ยะตุ้ย เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติศรีน่าน ผู้พบความมหัศจรรย์ของพืชชนิดนี้ให้ชื่อว่า “หญ้าเข็มนาฬิกา” และเล่าถึงการหมุนของหญ้านี้ว่าเป็นลักษณะในการกระจายพันธุ์ โดยเมื่อลมและฝนพัดดอกหญ้าร่วงลงพื้น เมื่อโดนน้ำดอกหญ้าแห้งซึ่งบิดตัวอยู่จะคลายตัวออกจนหมุนเป็นวง ร่วงหล่นปักลงไปในดิน และหมุนฝังตัวเองลงไปในผืนดินเพื่องอกขึ้นเป็นต้นใหม่ 


นับเป็นอีกหนึ่งความมหัศจรรย์ในการพยายามเอาตัวรอดของพืชพันธุ์ และเป็นสิ่งน่าสนใจไม่ควรพลาดทดลองเล่นหญ้าเข็มนาฬิกาเมื่อได้มาเยือนที่เสาดินนาน้อยแห่งนี้

ที่น่าดีใจอีกอย่างหนึ่งคือ เราได้เจอกับรถ Google Street View ด้วยยยยยยยย
(รู้ว่ามีอยู่ แต่ไม่เคยสัมผัสได้ด้วยตาของตัวเองจริงๆ จนกระทั่งวันนี้)

คนขับรถ street view เอาตุ๊กตาเที่ยวเมืองไทยลงมาถ่ายรูป โดยมี BG เป็นรถแล้วก็เสาดินนาน้อย
 

มาแป๊บๆ แล้วก็จากไป ไอ้เราก็นึกว่าจะเอากล้องเข้าไปถ่ายข้างในซะอีก
มาเร็ว เคลมเร็วจริงๆ T T
ปล่อยรถ Street View ให้จากไป ไปต่อกันที่สิ่งที่น่าสนใจกว่านั้นดีกว่า

สิ่งนั้นก็คือ

+++ต้นดิ๊กเดียม+++

มหัศจรรย์ต้นไม้ที่เอามือไปสะกิดเบาๆ หรือลูบที่ลำต้นเบาๆ ก็จะเห็นได้ว่ากิ่งและใบของต้นเกิดการกระดิก แกว่งสั่นไหว ราวกับว่าต้นไม้นั้นจั๊กจี้ ดิ้นได้ ทั้งๆ ที่ไม่มีลมพัดแต่อย่างใด


มันน่าดีใจตรงที่ เจ้าดิ๊กเดียมต้นนี้ ไม่ว่าใครจับมัน มันก็กระดุกกระดิกอย่างเห็นได้ชัดจริงๆ ไม่ต้องให้เรามโนไปเองอีก เจ้าหน้าที่บอกว่า ค่อยๆ จับ เกาเบาๆ แต่อย่าเอาเล็บไปขูดมัน (เดี๋ยวผิวต้นไม้ลอกหมด) เดี๋ยวมันก็ขยับเอง อย่างตรงใบนี่ขยับอย่างเห็นได้ชัดเลย


ซึ่งมันก็ขยับจริงๆ ด้วย โอ้ยยยยยย น้ำตาจะไหล T^T

“ต้นดิกเดียม” มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ GARDENIE TURGIDA ROXB อยู่ในวงศ์ RUBIACEAE และมีชื่อเรียกแตกต่างกัน เช่น
  • ภาษาไทยลื้อเรียกว่า ต้นจิเดียม หรือ ต้นดิ๊กเดียม
  • ภาษาไทยภาคกลางเรียกว่า กระเบียน
  • ภาคเหนือเรียกว่า จี๊เดียม
  • จ.ตากเรียกว่า กระดานพน
  • จ.เลยเรียกว่า มุ่ยแดง
  • จ.กาญจนบุรีเรียกว่า มะกอกพราน


ลักษณะของต้นดิกเดียมเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงกลาง (แต่มันเริ่มงอกจากพื้น ค่อยๆ เลื้อยขึ้นมาเป็นไม้ยืนต้น กว่าจะเป็นไม้ยืนต้นได้เนี่ยใช้เวลาเป็นสิบๆ ปีเลย) ถ้าถึงฤดูออกดอกจะออกดอกเป็นสีขาวอมเหลือง (ไม่เคยเห็นดอกมันเลยแฮะ)


ต้นดิ๊กเดียม นอกจากจะเป็นต้นไม้มหัศจรรย์ดิ้นได้แล้ว ก็ยังมีคุณประโยชน์ด้วยอีกต่างหาก
  • ดอก สามารถช่วยฆ่าพยาธิ
  • ใบ เอามาขยี้ทาแก้กลากเกลื้อน
  • น้ำมันในเมล็ด นำมาทาแก้แผลมะเร็ง โรคเรื้อน
  • ราก ช่วยแก้เสมหะเป็นพิษ แก้อาการอาหารไม่ย่อยในเด็ก
  • เปลือก ช่วยแก้ริดสีดวง
  • ใบ นำมาตำพอกรักษาแผลสด
  • ไม้จากต้นดิ๊กเดียม นำมาใช้ทำเครื่องเรือน เครื่องกลึง แกะสลัก หวี กระสวย


มุ่งหน้าไปยังสถานที่ต่อไปของเรากันเลยดีกว่า

ผาชู้

ผาชู้ ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติศรีน่าน อ.นาน้อย จ.น่าน คำว่า “ชู้” ในที่นี่ ข้อมูลส่วนใหญ่ระบุว่า ไม่ได้หมายถึงชู้สาว แต่หมายถึงคนรัก


สำหรับตำนานรักที่นี่แม้จะมีหลายเวอร์ชั่น แต่ที่โดดเด่นและได้รับการยอมรับมากที่สุดเห็นจะเป็น ตำนานรัก 3 เส้า ระหว่าง “เจ้าจ๋วง” หนุ่มรูปงามเจ้าแขวงเมืองศรีสะเกษ กับ “เจ้าจันทน์ผา” (เจ้าจันทร์) และ “เอื้อง” (เจ้าเอื้อง) เจ้าจันทน์ผาเป็นชายาของเจ้าจ๋วงอยู่แล้วแต่ไม่มีบุตรด้วยกัน ส่วนเอื้องเป็นสาวงามลูกสาวพรานป่าที่เจ้าจ๋วงมาพบรักในระหว่างออกล่าสัตว์และได้ครองคู่กันในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ก่อนที่เจ้าจันทน์ผาซึ่งเห็นสามีตัวเองหายไปจะตามมาพบเจ้าจ๋วงอยู่กับสาวเอื้อง
     
เมื่อเกิดปัญหาความรักอีรุงตุงนัง 2 หญิง 1 ชาย ขึ้น เมื่อสุดท้ายหญิงสาวทั้งสองยื่นคำขาดให้เจ้าจ๋วงต้องเลือกใครคนใดคนหนึ่ง เจ้าจ๋วงตัดสินใจไม่ได้เพราะรักทั้งคู่ จึงอธิษฐานว่า
     
“...ถ้าความรักของเราทั้งสามเป็นความรักที่บริสุทธิ์ เป็นรักแท้ตราบชั่วนิรันดร์ ขอให้ร่างกายเรากลับกลายเป็นต้นไม้อยู่คู่กับโขดหินใหญ่แห่งนี้ตลอดกาล...”


แล้วเจ้าจ๋วงก็กระโดดหน้าผาตาย เจ้าจันทน์ผาเห็นดังนั้นก็กระโดดหน้าผาตายตาม ทำให้เอื้องที่เกรงกลัวบาปกรรมกระโดดหน้าผาตายไปอีกคน เจ้าจ๋วงเมื่อตายแล้วกลาเป็น “ต้นจ๋วง” หรือ “สนเขา” เจ้าจันทน์ผาร่างไปตายติดอยู่บนหิน กลายเป็น “ต้นจันทน์ผา” ส่วนร่างของสาวเอื้องตายไปติดอยู่บนต้นไม้กลายเป็น “ต้นเอื้อง” หรือ กล้วยไม้

และนี่ก็เป็นตำนานรักอันโดดเด่นของผาชู้ ซึ่งยังมีอีก 2-3 ตำนานเล่าขานกัน ขณะที่บางคนบอกว่าชื่อผาชูมาจากคำว่าเชิดชู บ้างก็บอกว่ามาจากคำว่า “ชูธง” เพราะบนยอดผาชู้ที่ตั้งสูงตระหง่านขึ้นไปนับร้อยเมตร มีเสาธงชาติไทยชักธงชาติปลิวไสวตั้งอยู่ เป็นเสาธงชาติอันขึ้นชื่อเพราะมีสายชักธงชาติยาวที่สุดในประเทศไทยถึง 200 เมตร (ไป-กลับ) เลยทีเดียว


ที่ผาชู้เป็นจุดชมวิวและทะเลหมอกชั้นดี มีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ บริเวณศูนย์บริการนักท่องเที่ยวจะมีต้นจันทน์ผาตามธรรมชาติขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก นับเป็นต้นไม้ที่ช่วยสนับสนุนให้ตำนานรัก 3 เส้าที่ผาชู้ดูสมจริงสมจังมากขึ้น


เมื่อมองจากผาชู้ลงไป จะเห็นสายน้ำไหลอยู่ ความจริงถ้าตำนานบอกว่า
โดดหน้าผาแล้วจมน้ำตาย กลายเป็นชื่อ แม่น้ำสามศพ ก็น่าจะพอเชื่อถือได้เหมือนกันนะ เพียงแค่มันอาจจะดูหลอนมากกว่าโรแมนติค... :P

ที่ผาชู้มีค่าเข้าด้วยนะ (จำราคาไม่ได้แล้ว) ถ้าใครจะมาพักกางเต้นท์ก็สามารถทำได้เหมือนกันค่ะ

มุ่งสู่จุดหมายปลายทางสุดท้ายของวันนี้ เราจะไปดูพระอาทิตย์ตกดินกันที่


บริเวณจุดชมวิวอีกจุดหนึ่งของอุทยานแห่งชาติศรีน่าน มีพื้นที่เป็นลานกว้างตามสันเขา สามารถกางเต็นท์ได้ประมาณ 20-30 หลัง แต่ต้องมาจับจองพื้นที่ในตอนเช้า หากมาถึงบ่ายหรือเย็น พื้นที่ส่วนนี้อาจจะเต็มและต้องกางในชั้นที่ลดหลั่นลงมา เหมาะสำหรับการพักผ่อน ดูดาว ดูพระอาทิตย์ขึ้นและตกดินในบริเวณเดียวกัน สถานที่นี้คือ...

ดอยเสมอดาว


"ดอยเสมอดาว" อยู่ในอาณาบริเวณของ "อุทยานแห่งชาติศรีน่าน"เป็นจุดชมทะเลหมอกและพระอาทิตย์ขึ้นและตก ซึ่งตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าฝั่งขวาของแม่น้ำน่านตอนใต้ ป่าสงวนแห่งชาติป่าห้วยงวง ป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำว้า และป่าห้วยสาลี ครอบคลุมพื้นที่ 7 ตำบล 3 อำเภอ คือ ตำบลส้าน และตำบลน้ำมาบ อำเภอเวียงสา ตำบลศรีษะเกษ ตำบลเชียงของ และตำบลสถาน อำเภอนาน้อย ตำบลบ่อแก้ว และตำบลนาทะนุง อำเภอนาหมื่น จังหวัดน่าน 



"ดอยเสมอดาว" สามารถมองเห็นผาหัวสิงห์ได้ เป็นลักษณะของผาหินขนาดใหญ่มองดูคล้ายหัวของสิงห์โต หากจะเดินขึ้นบนผาหัวสิงห์ควรติดต่อเจ้าหน้าที่นำทางไปด้วย (แต่ถ้าแน่จริงก็เดินขึ้นไปเลย แต่ควรไปก่อนพระอาทิตย์ตกดินนะคะ บังเอิญว่าคีบแตะไป เลยไม่เสี่ยงดีกว่า) 


ระหว่างรอพระอาทิตย์ตก ก็ทิ้งตัวลงนอนบนพื้นหญ้าคันๆ นั่นแหละ

ก็นั่งนานๆ มันเมื่อยนี่หน่า -0-


จุดชมวิวดอยเสมอดาวและผาหัวสิงห์ เป็นจุดที่สามารถมองเห็นได้รอบทิศทาง เห็นวิวทิวทัศน์ของแม่น้ำน่านที่ทอดยาวในหุบเขา และเห็นยอดผาชู้ที่ตั้งตระหง่านอยู่ข้างหน้า สามารถมองเห็นตัวเมืองนาน้อย และไร่นาของชาวบ้านได้ (ถ้าตาดีพอ) 


รอพระอาทิตย์ตกอยู่นานมากกกกกก เกือบจะถอดใจไม่รอดูแล้วเชียว


พอตกปุ๊บ ก็ตกซะเร็วเชียว .. เอาแต่ใจจริงนะคุณพระอาทิตย์!!!



พอถ่ายรูปฝั่งนี้จนพอใจ ก็เดินลงเนิน แล้วก็ขึ้นเนินเตี้ยๆ เพื่อข้ามไปอีกฝั่ง ฝั่งนี้มองลงไปจะเจอกับไร่ข้าวโพด(คิดว่าใช่นะ) ตอนลุยผ่านต้นข้าวโพดลงไปก็แอบคัน แต่ความอยากถ่ายภาพมันมากกว่า ก็เลยเป็นไงเป็นกัน!


พอพระอาทิตย์เริ่มตกดิน อากาศก็เย็นเจี๊ยบบบบบ สุดยอดไปเลย วู้ฮู~~~



พระอาทิตย์ตกดินตอนประมาณ 18.30 น. 


จากนั้นเราก็รีบแว๊นลงจากเขาก่อนที่จะขับรถลำบากไปกว่านี้ คืนนี้เราจะไปนอนกันที่แพร่จ้า

มื้อเย็นวันนี้ เราจัดกันที่ร้านข้าวต้มในตัวเมืองแพร่ อยู่ตรงปากทางเข้า บขส. ของเมืองแพร่เลยพอดีเลย รถทัวร์ก็เลยวิ่งผ่านกันให้คึกคัก คึกคัก คึกคัก


ยังยิ้มได้ แม้จะเหนื่อยมากแล้วก็ตาม 

อาหารเย็นวันนี้ รสชาติผ่าน แต่ราคาไม่ผ่านนะจ๊ะ จะแพงไปหนายยยยยยยยยยยยยย (ถ้าเทียบกับร้านอื่นที่เคยกิน)





ท้องตึง หนังตาหย่อน เข้าที่พักกันดีกว่า (ที่พักนี้จองผ่านเว็บไซต์มาตั้งแต่ก่อนเดินทางจ้ะ)

ภูมิไทย การ์เด้นท์

ด้านหน้าสวย ส่วนตรงข้ามโรงแรม รู้สึกจะเป็นร้านหมูกระทะ - -" 



ห้องพักที่ได้ เป็นห้องพักที่อยู่ชั้นสอง (เดินขึ้นบันไดเอา) สภาพห้องโอเคตามปกติ ไม่มีสิ่งแปลกปลอม มีอินเตอร์เน็ต  (Free WIFI) ให้ใช้อีกเช่นเคย

ถ้าโรงแรมไหนไม่มีอินเตอร์เน็ต (Free WIFI) ให้ใช้ โรงแรมนั้นจะถูก ignore มากเลยนะ สำหรับชีวิตมนุษย์ยุคก้มหน้าแบบเราๆ lol


23 ตุลาคม

ตื่นเช้ามาทานอาหารเช้า ณ โรงแรมภูมิไทย การ์เด้นท์ นอกจากจะเป็น ข้าวต้ม ข้าวสวย ไข่ดาว คอนเฟลค ขนมปัง นม กาแฟ ที่นี่มี ข้าวซอย ให้กินแต่เช้าด้วย เจ๋งไปเลย!

หลังจาก check-out ก่อนจะเดินทางกลับบ้าน ขอแวะกันอีกสักที่...

วัดพระธาตุช่อแฮ


เป็นวัดศักดิ์สิทธิ์เก่าแก่ คู่บ้านคู่เมืองจังหวัดแพร่ และเป็นวัดพระธาตุประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดปีขาล


วัดพระธาตุช่อแฮ ตั้งอยู่เลขที่ 1 หมู่ที่ 11 ถนนช่อแฮ ตำบลช่อแฮ อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ บนเนื้อที่ 175 ไร่  บุคคลใดที่มาเที่ยวจังหวัดแพร่แล้วจะต้องมานมัสการพระธาตุช่อแฮ เพื่อเป็นศิริมงคลกับตนเอง จนมีคำกล่าวว่าถ้ามาเที่ยวจังหวัดแพร่ แต่ไม่ได้มานมัสการพระธาตุช่อแฮเหมือนไม่ได้มาจังหวัดแพร่


การเดินทางมาเที่ยววัดพระธาตุช่อแฮ ถนนสายหลัก คือ ถนนช่อแฮ เริ่มตั้งแต่สี่แยกบ้านทุ่ง อำเภอเมืองแพร่ ซึ่งเป็นสี่แยกใจกลางเมืองแพร่ เข้าสู่ถนนช่อแฮ และตรงไปตามถนนช่อแฮ ผ่านโรงพยาบาลแพร่ สนามบินจังหวัดแพร่ หมู่บ้านเหล่า หมู่บ้านนาจักร หมู่บ้านแตหมู่บ้านมุ้ง สถานที่ตั้งของวัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง อยู่ในบริเวณเขตเทศบาลตำบลช่อแฮ


ด้วยระยะทาง 9 กิโลเมตร จากตัวเมืองจังหวัดแพร่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกวัดพระธาตุช่อแฮ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2549


ด้านประวัติศาสตร์

สร้างขึ้นในสมัยกรุงสุโขทัย ระหว่างจุลศักราช๕๘๖-๕๘๘ (พ.ศ.๑๘๗๙-๑๘๘๑) ในสมัยพระมหาธรรมราชา(ลิไท) ได้เสด็จมาบูรณปฏิสังขรณ์พระเจดีย์แห่งนี้ จากนั้นได้จัดงานสักการะ ๗ วัน ๗ คืน จึงได้ชื่อว่า "พระธาตุช่อแฮ" (คำว่า "แฮ" เป็นคำที่เพี้ยนมาจากคำว่า "แพร" แปลว่า ผ้าแพร) และในปีพ.ศ.๒๔๖๗ ครูบาศรีวิชัย ได้มาเป็นประธานบูรณปฏิสังขรณ์อีกครั้งหนึ่ง


ในระหว่างวันขึ้น ๙ ค่ำ - ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ ใต้ เดือน ๖ เหนือของทุกปี จะมีการจัด "งานประเพณีไหว้พระธาตุช่อแฮเมืองแพร่แห่ตุงหลวง" ด้วยความสำคัญดังกล่าว จังหวัดแพร่ได้นำองค์พระธาตุช่อแฮ ประดิษฐานบนหลังม้าเป็นตราสัญลักษณ์ของจังหวัด และนำมาเป็นคำขวัญประจำจังหวัดแพร่

"หม้อห้อมไม้สัก ถิ่นรักพระลอ ช่อแฮศรีเมือง ลือเลื่องแพะเมืองผี คนแพร่นี้ใจงาม"


ตอนแรกว่าจะออกจากเมืองแพร่แต่เช้า จะได้ถึง กทม. เร็วๆ แต่ก็ทำไม่สำเร็จนะจ๊ะ - -"

หลังจากสักการะพระธาตุช่อแฮเรียบร้อย ก็หาข้าวกลางวันกินในเมือง เป็นร้านเพิงๆ ข้างถนน รสชาติใช้ได้ ราคาก็ปกติเหมือนร้านอาหารตามสั่งทั่วไป (ไม่สามารถเรื่องมากได้แล้ว เพราะว่าจะถึง กทม. ดึกไปกว่านี้)

จากนั้นเราก็ยิงยาวกันมาที่พิษณุโลก แวะซื้อของฝากกันที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร หรือชื่อที่เรียกกันทั่วไปว่า "วัดใหญ่" 


ตั้งอยู่ที่ ถนนพุทธบูชา ริมฝั่งแม่น้ำน่านด้านทิศตะวันออก ตรงข้ามกับศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก เป็นพระอารามหลวง ชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร เป็นที่รู้จักโดยทั่วไปในฐานะสถานที่ประดิษฐานพระพุทธชินราช พระพุทธรูปที่ได้รับการยกย่องว่าสวยงามที่สุดในประเทศไทย


แบบว่าแวะวัดนี้เพื่อซื้อของฝากจริงๆ นะ คนมาเที่ยววัดนี้เยอะมาก (สงสัยเป็นเพราะวันนี้เป็นวันหยุดราชการด้วย) ที่จอดรถแทบไม่มี ก็เลยได้แต่ไหว้พระท่านอยู่ระยะไกลๆ บวกกับเคยมาวัดนี้แล้วตอนจัดค่าย YWC 10 ส่วนเหตุผลอีกอย่างก็คือต้องรีบแว๊นกลับบ้านแล้วจริงๆ จ้า (เป็นเหตุผลหลักจริงๆ เนื่องจากวันรุ่งขึ้นต้องตื่นไปทำงานกันตามปกติแล้ว)

กลับมาถึง กทม. ตอนประมาณสองทุ่มพอดี ไม่ดึกเกินไป มีเวลาเก็บของ เคลียร์ตัวเอง เพื่อทำงานในวันรุ่งขึ้นเป็นลำดับต่อไป

ถ้าคิดจะ Refresh ชีวิตตัวเอง น่านเป็นตัวเลือกที่ดีเลยนะ แต่ต้องชอบความเงียบสงบ เพราะถ้าชอบสีสัน ที่นี่อาจจะไม่เหมาะเท่าไหร่

ยังมีภาพจากทริปนี้อีกเพียบ ไปแวะชมกันได้ที่ กระซิบรักที่เมืองน่าน...19-23 Oct 2013 นะคะ ^^"

ทิ้งตัวนอนลงบนผืนหญ้า ที่ดอยเสมอดาว :D
The End...
ที่มาของเนื้อหาสาระ

  • http://www.lannatouring.com/Nan/Interesting-article/BokluaSintoun-Nan.htm
  • http://variety.teenee.com/foodforbrain/42438.html
  • http://www.lannatouring.com/Nan/Interesting-article/Wat-Tonlang-Nan.htm
  • http://goo.gl/G2r3Gg
  • http://student.nu.ac.th/chollathit/Tung_lanna.html
  • http://www.manager.co.th/travel/viewnews.aspx?NewsID=9560000034628
  • http://www.paiduaykan.com/76_province/north/nan/wadprang.html
  • http://goo.gl/dF1P3M
  • http://goo.gl/CSF0F8
  • http://www.paiduaykan.com/76_province/north/nan/saodinnanoi.html
  • http://www.manager.co.th/travel/viewnews.aspx?NewsID=9560000028570
  • http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9560000016254
  • http://travel.kapook.com/view365.html
  • http://goo.gl/k5PkuL
  • http://www.phrae.go.th/tem/tip/nature_phrae/hagi1.html
  • http://goo.gl/nd8rP7

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ประสบการณ์ตรงกับการโดน Facebook บังคับเปลี่ยนชื่อ ทำอะไรไม่ได้นอกจาก "รอ"

สองชั่วโมง สองที่เที่ยว ด้วย เรือหางยาว เจ้าพระยา

น้องนีโม่ กับ โรคฉี่หอม