บันทึกการเดินทาง: พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้ #ywcouting

~ ไปกัน ไปกันเถอะ ~

ผู้ร่วมทริปในครั้งนี้ cr: น้องปอย

ด้วยความที่เป็นสาวโซเชียล (วันๆ นั่งไถ facebook) ก็ได้เจอกับ feed นึงที่น้องปอยเป็นคนแชร์ เมื่อวันที่ 21 Apr 


จากเพจนี้

ทันใดนั้นก็ไม่รอช้า เปิด 1 day trip ของชาว #ywcouting โดยพลัน นัดหมายเจอกันที่พิพิธภัณฑ์ในวันที่ 20 May เวลา 10.00 น. โดยจองรอบเข้า 10.30 น. ซึ่งเป็นรอบแรก มีคนลงชื่อ 12 คน แต่เมื่อถืงวันจริงก็มีคนเทไป 3 (ไม่ระบุนาม)


ก่อนถึงวันนัดหมายเราเองก็เปิด google maps ดูอยู่หลายที เพราะไม่คุ้นชินเส้นทางแถวนี้ แล้วพอถึงวันจริง ก็เลือกเส้นทางรถเมล์ เพราะว่าประหยัด (ฮา) เริ่มต้นจากนั่งมอไซค์ออกไปที่ปากซอยบางขุนศรี จากนั้นก็ขึ้นรถเมล์สาย 108 มาลงตรงข้ามตลาดกรุงธนฯ (แถวๆ สะพานกรุงธนนั่นแหละ) รอรถเมล์สาย 66 อยู่เกือบครึ่งชั่วโมง ซึ่งเวลานั้นเป็นเวลา 10 โมงแล้ว ก็คิดในใจว่าถ้าไม่ยอมมา จะขึ้น taxi แล้วนะ ทันในนั้นเอง! ก็มีรถเมล์สาย 66 ขับมาจอดเทียบท่าพอดี โอ้ยย ขอบคุณความอดทนของตัวเองในวันนี้มากๆ ค่ะ 

ระหว่างที่นั่งรถเมล์ก็สังเกตด้านซ้ายไปตลอดทาง พอเห็นซอยสามเสน 23 ก็เตรียมตัวจะลงละแหละ พี่กระเป๋ารถเมล์ก็ประกาศด้วยเสียงดังว่า “บางกระบือ” อ่อ... เรียกตรงนี้ว่าแบบนี้นี่เอง พอลงจากรถเมล์มา ก็วิ่งข้ามสะพานลอย ฝั่งนี้จะมีห้างสุพรีมอยู่ (เคยมาห้างนี้อยู่สองครั้งได้มั้ง เมื่อหลายปีมาแล้ว) 

ความพีคของวันนี้คือ ระหว่างที่เดินอยู่บนฟุตบาธเพื่อเข้าไปในซอยสามเสน 28 นั้น ก็มีรถปิ๊คอัพคันนึงขับเข้าซอยไป เสียงดัง “กร๊อบบบ” เข้ามาปะทะโสตประสาทการได้ยินของเรา แล้วเมื่อหันหน้าไปทางสองนาฬิกาแบบก้มหน้าเล็กน้อย สายตาก็ได้ประสานกับ สภาพศพสุดสยองของนกพิราบ ที่โดนล้อหลังของรถคันนั้นทับ คาดว่าคงเดินหาของกินอยู่กับพื้นแล้วบินขึ้นไม่ทัน จากนั้นคนที่เห็นเหตุการณ์ก็ร่วมสลดใจและสยองจิตไปพร้อมกัน เราเองยังเอามือปิดปากแล้วรีบเดินจ้ำต่อเลย (ภาพมันติดตามากจริงๆ) เราจะหาโอกาสทำบุญไปให้นะนกพิราบนะ T T

ใช้เวลาเดินไม่นาน (ด้วยความเร็วระดับเรา) ก็จะเจอกับซอยองครักษ์ 13 หมุนตัวเดินต่อเข้าไปเลย ซึ่งหน้าปากซอยจะมีป้ายฟิวเจอร์บอร์ดบอกอยู่ว่าเป็น Flower Museum 

ใช้เวลาประมาณ 15 นาที นับจากการได้ขึ้นรถเมล์สาย 66 เราก็มาถึงพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้จนได้ (รอรถนานกว่าอีก) ทันทีที่เดินผ่านประตูรั้วเข้ามา หันไปทางขวาก็เจอกับเหล่าชายโฉดของแก๊งเรากำลังนั่งเล่น ROV อยู่ใต้ร่มไม้ (เอ่อม... มองบนแป๊บนึง) ส่วนสาวๆ ก็เดินชมรอบๆ พิพิธภัณฑ์กันอยู่ 

“พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้” เป็นของคุณสกุล อินทกุล ศิลปินนักจัดดอกไม้ระดับนานาชาติ ซึ่งจากการอ่านเพิ่มเติมในเว็บพบว่า เปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 12 ส.ค. 55 (โห 5 ปีมาแล้ว ไม่เคยรู้เรื่องเลย) ภายนอกบ้านมีความร่มรื่นมาก ต้นไม้เยอะแยะไปหมด ปลูกกล้วยไม้ก็ยังจะออกดอกได้ด้วย (เจ๋งชะมัด)  


ด้วยความที่ไปถึงก่อนเวลาก็เลยไปเดินวนรอบบ้านเล่นๆ ก่อน พื้นที่ไม่กว้างนัก แต่ก็มีทั้งสนามหญ้า ศาลาทรงไทย สระว่ายน้ำด้วย


เมื่อใกล้ถึงเวลาก็มาเตรียมตัวชมนิทรรศการในรอบ 10.30 น. ก่อนอื่นต้องรีบไปจ่ายค่าบัตรเข้าชมก่อนนะฮะ สำหรับค่าเข้าเฉยๆ ราคา 150 บาท แต่ถ้าใครอยากลองชุดน้ำชาสโคน หรือชุดน้ำชาขนมหวานไทยก็จะมีราคาพิเศษให้ด้วย (เค้าบอกว่า 1 ชุด ทานได้ 2 คน)

cr: น้องปอย

ตลอดเวลาที่เดินอยู่ในตัวบ้าน "ห้ามถ่ายภาพใดๆ" นะ ก่อนจะเดินเข้าไปในตัวบ้านจะมีจุดวางพัดไว้หลายด้ามให้หยิบติดมือเข้าไปพัดคลายร้อนได้ และสามารถไล่ยุงได้ด้วย (ยุงเยอะมาก ดีที่พกยาหม่องติดตัวไว้เสมอ)

พัดแบบที่เห็นในหนัง มีความใช้งานยากและให้พลังลมต่ำกว่าพัดปกติ cr: น้องปอย

ต่อไปนี้เป็นเรื่องราวที่ได้ฟังจากไกด์ ซึ่งเราพิมพ์รัวๆ เก็บไว้ในมือถือ (เท่าที่ความสามารถจะทำได้)

- คุณสกุลเรียนจบวิศวะ อิเล็กทรอนิกส์ ลาดกระบัง แล้วก็ไปเรียนต่อสถาบันจัดดอกไม้ญี่ปุ่นในไทย แล้วก็ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์นี้ขึ้น
- บ้านหลังนี้เป็นบ้านโบราณสไตล์โคโลเนียล ใช้ไม้สักทอง มีอายุ 100 กว่าปี คลองหน้าบ้านสามารถทะลุไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาได้
- แบ่งออกเป็นห้องจัดนิทรรศการทั้งชั้น 1 และชั้น 2 รวม 7 ห้อง

ห้องแรก Dusit gallery 
- เป็นการเก็บภาพประวัติศาสตร์ 100 กว่าปี  โดยนำมาจากภาพจดหมายเหตุเทเวศร์
- ทั้งภาพฝีพระหัตถ์ การประดิษฐ์ดอกไม้สดเป็นเครื่องแขวนไทย ใช้ตกแต่งในพระราชวังหรืองานพิธีทางศาสนา
- มีภาพขบวนรถดอกไม้ในอดีต ตอนงานครองราชย์ 41 ปีของรัชกาลที่ 5

ห้องสอง หอวัฒนธรรมดอกไม้แห่งเอเชีย 
(ห้องนี้เปิดแอร์ล่ะ เป็นแอร์ตั้งพื้นตัวจิ๋วๆ)
- ในห้องนี้ประกอบไปด้วยสิ่งของวางคู่กับภาพต่างๆ 
- อินเดีย มาลัยดอกไม้ใช้การผูกและการมัด ภาพรังโกลี พิธีปีใหม่ของอินเดีย
- จีน ภาพจิตรกรรม (วัดราชโอรส รัชกาลที่ 3) เล่าวัตถุ 100 อย่างที่เป็นของมงคล 1 ในนั้นคือแจกัน
- ญี่ปุ่น จัดดอกไม้โดยพระสงฆ์ "อิเคบานะ" เคร่งครัดมากสุด อุปกรณ์มีทั้งแบบแหลมๆ เอาไว้เสียบดอกไม้, หนามเตย, ที่สูบน้ำ (หน้าตาคล้าย slink ยา) เพราะเค้าจะอยู่กับที่ ห้ามขยับตัว หรือวิธีแบบ "ชาบานะ” ที่มีความเรียบง่าย ไม่ตายตัว 
- ซึ่งคุณสกุลได้ “ตำราลับแห่งการจัดดอกไม้แบบโชกะของอิเคโนโบะ” เป็นตำราที่มีอายุ 200 กว่าปี (ตัวจริงม้วนไว้ เอาตัวคัดลอกมาวางกางๆ ให้ดู แต่อ่านไม่ออก 55+)
- มีแผนที่โลกแปะอยู่ที่ฝาข้างนึง เป็นการเดินทางของดอกไม้
- อินโดนีเซีย เอาโลหะบางมาทำมงกุฎดอกไม้ 
- ฮินดู บทจะกรรณ (ไม่แน่ใจว่าคำนี้หรือเปล่า) ดอกไม้เป็นเครื่องสักการะ
- ลาว จะมีสุ่มดอก 
- ทิเบต ประติมากรรมดอกไม้ทำจาก แป้ง เนย นม
- บาหลี 
- อินโดนีเซีย 
- เขมร ถอดสเก็ตแบบ ใช้ดอกไม้กับปูนปั้น ต้นแบบสถาปัตยกรรมศิลปะไทย


ห้องสาม อุโบสถดอกไม้ / พิธีแห่ต้นดอกไม้ของจังหวัดเลย 
- ต้นดอกไม้ทำจากโครงไม้ไผ่ ยึดด้วยหวาย ไม่มีตะปูเลย ความสูงที่เค้าทำมากสุดคือ 15m 
- จะมีทุกๆ วันสงกรานต์ เป็น unseen thailand มีทุกอำเภอในจังหวัดเลย
- แต่ที่โดดเด่นที่สุดคือ อ.นาแห้ว ที่วัดศรีโพธิ์ชัย (ต้นใหญ่สุด) ที่วัดอื่นจะ 5-6m
- เป็นการทำพิธีเพื่อสักการะให้ผืนป่าสมบูรณ์
- ลงมือทำเช้า 13 แห่ 14 เย็น ใช้ผู้ชายแห่กัน 10 กว่าคน
- วัดศรีโพธิ์ชัยนี้มีอายุ 400 กว่าปี ชาวบ้านที่อยู่ละแวกนั้นส่วนใหญ่อพยพมาจากลาว (จะเห็นภูเขาฝั่งลาว) 
- ลาวก็มีประเพณีนี้ แต่ประเพณีสูญหายไปแล้ว
- ส่วนที่ห้อยลงมาจากเพดานเรียกว่า “ตุ้มนก ตุ้มหนู” แสดงถึงวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยดำ และมีตะโขง (คล้ายตะเข้) เป็นสัญลักษณ์
- ป่าของพวกเค้า ตอนปี26 เกิดกฎหมายให้สัมปทานตัดป่าไม้ได้ ชาวบ้านจึงมารวมตัวประท้วงที่ กทม. ขอคืนผืนป่า ถ้าไม่ให้จะไปเข้าร่วมกับฝั่งคอมมิวนิสต์ สุดท้ายรัฐบาลก็ยอม ได้ผืนป่าคืน

ห้องสี่ มรดกวัฒนธรรมของไทย
- การแกะดอกไม้ เอากลีบมาเย็บแบบ 
- วิมานแท่น, วิมานพระอินทร์
- การปักพานพุ่ม ใช้แกนดินเหนียว ก้านระกำปักดอกบานไม่รู้โรย
- ถักตาข่าย เอาไปเป็นเครื่องแขวน คลุมเทียนพรรษา, ผ้าไตร ใช้ดอกพุด ดอกรัก
- การร้อย
- การมัดส่วนปลาย อุบะ แกะดอกมามัด มัดดอกขาด (เรียกแบบนี้หรือเปล่านะ?)
- ตรงกลางของห้อง มีผลงานของคุณวิรินทร์ ใช้การพับกระดาษเป็นดอกไม้ไทยรูปแบบต่างๆ 
- ประตูอุโบสถวัดโสมนัส วาดภาพเครื่องแขวนไทย กลิ่นโสมนัส เป็นศิลปะแบบ contemporary


ห้องห้า งานแต่งงาน 
- ชุดพานขันหมากเอก ดอกไม้ ใบไม้มงคล ใบเงินใบทองใบนาค มั่งคั่งยั่งยืน จำปี ดาวเรือง ดอกรัก 
- พานธูปเทียน พานขันหมาก
- การเย็บแบบ ใบตอง กลีบดอกไม้
- งานดอกไม้สดอยู่ได้ 3 วัน แล้วก็ปล่อยให้แห้งไป ส่วนที่เห็นอยู่เนี่ยมีราไม๊ไม่รู้ (ฮาาา)

แล้วเราก็เดินขึ้นบันไดไปชั้นสองกัน ระหว่างที่เดินขึ้นไป บันไดก็จะมีเสียงลั่นจากไม้ ได้ยินเสียงใครไม่รู้จากแก๊งเราบอกว่า “ไม่ต้องติดสัญญาณกันขโมยเลยนะ” (นี่ก็ฮากันได้ตลอด)

ห้องหก ผลงานการออกแบบของคุณสกุล
- โรงแรม บูการี ที่อินโดนีเซีย
- การจัดดอกไม้เป็นม้วนฟิล์ม ยาว 5m
- แจกันสำริดที่ได้รางวัล คือ รูปดอกยาง2แฉก และรูปตีนเป็ด
- งาน 60 ปีครองราชย์ของรัชกาลที่ 9 กับการประดับผ้าตรงโต๊ะเสวย
- (ด้านล่าง มองลงไป) เป็นศาลาไทยดั้งเดิม สระว่ายน้ำเดิมเป็นบ่อดินที่ปลูกบัว มีต้นไม้เก่าแก่อยู่ 3 ต้นหลักๆ คือ ต้นตีนเป็ด กล้วยพัด ชมพูพันธ์ทิพย์

ห้องเจ็ด Secret of No.9 
- งาน modern 9 แบบ ที่คุณสกุลคิดค้น
1. cubes and squares > เราชอบภาพที่เป็นใบบัวมาห่อเป็นรูปลูกบาศก์สุด 
2. triangels, cones and pyramids
3. meshes and weaves
4. circles and spheres
5. the horizontal
6. the vertical
7. folds and pleats
8. floressence
9. waves
10. fractals (อ้าว ทำไมเกิน 9 ...)
- ข้างฝาด้านนึงมีกระด้งเลี้ยงไหมแขวนอยู่ 2 อัน วัสดุจากพื้นบ้านก็เอามาเป็นอุปกรณ์จัดดอกไม้ได้นะจ๊ะ


จากนั้นคนที่สั่งชุดขนมไว้ ก็ให้มารอรับประทานที่ระเบียงชั้นหนึ่ง (มีแค่พี่โดม พี่เตย) ระหว่างรอนั้นพวกเราก็เดินไปถ่ายรอบๆ บ้านกันอีกครั้ง พร้อมแชะภาพหมู่ (ที่อยู่บนสุดของ Blog นี้) ภาพหมู่ที่ประสบความสำเร็จได้จากกล้องของน้องปอย เพราะกล้องแทน แทนหาที่ตั้งเวลาไม่เจอ นี่กล้องแทนจริงๆ ใช่ไม๊ ไม่ได้ขโมยใครมาใช่ไม๊... 55+

ความไม่เห็นลูกตานี้ cr: น้องปอย

แล้วเราทั้ง 7 ก็โบกมือลาพี่โดมพี่เตย และ พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้ ไปก่อน เพราะต้องไปงานของแก๊ปต่อ 

การมาเที่ยววันนี้ทำให้เรารู้ว่า ประเทศกรุงเทพยังมีพิพิธภัณฑ์ดีๆ แอบซ่อนอยู่ ถึงแม้อากาศวันนี้จะร้อนจนเหงื่อแตกพลั่กๆ อีกทั้งโดนยุงกัดไปหลายตุ่ม แต่ก็ได้ความรู้กลับมา แถมได้ destination ใหม่ในการเปิดทริปด้วย ไม่ว่าจะเป็น บาหลี, ญี่ปุ่น, อ.นาแห้ว ในช่วงประเพณีสงกรานต์... #สายดอกไม้อย่างเราต้องไม่พลาด หึหึ :P

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ประสบการณ์ตรงกับการโดน Facebook บังคับเปลี่ยนชื่อ ทำอะไรไม่ได้นอกจาก "รอ"

น้องนีโม่ กับ โรคฉี่หอม

สองชั่วโมง สองที่เที่ยว ด้วย เรือหางยาว เจ้าพระยา